เป็นพ่อแม่ยังไงให้ (ลูก) รอด ในยุคเรียนออนไลน์
2107 views | 17/12/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


เรียนออนไลน์ เป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งมากตั้งแต่การเริ่มระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2563 และการระบาดระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2564 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนจากการเรียนที่โรงเรียนมาเป็นการเรียนที่บ้านผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในภาคเรียนที่ 1/2564 ที่ผ่านมา 

   

          ส่วนในภาคเรียนที่ 2/2564 ซึ่งจะเปิดเทอมในวันที่ 1 พ.ย. นี้ นอกจากการประกาศเปิดประเทศแล้ว รัฐบาลก็ยังประกาศให้สถานศึกษากลับมาเปิดเรียนโดยนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียน (On-Site) ตามปกติ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงเรียนและเงื่อนไขที่ว่าเด็ก ๆ นักเรียนนักศึกษาซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.5 ล้านคนต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบโดสทุกคน ตามสโลแกนที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าเอาไว้คือ “สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า” และภายใต้เงื่อนไขของสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนแบบ On-Site ได้นั้นต้องอยู่ภายใต้โครงการ Sandbox Safety in School (SSS) เท่านั้น ซึ่งจะเป็นไปได้แค่ไหน ก็ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้


           ดังนั้น การเรียนที่บ้านโดยเฉพาะการเรียนผ่านทางระบบ Video Conference หรือระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนและระบบอื่นตามที่ สพฐ. หรือสถาบันการศึกษาจัดเตรียมให้ จึงยังคงเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่รัฐบาลยังคงต้องกำหนดให้เป็นแนวทางสำคัญที่นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์และผู้ปกครองจำเป็นต้องใช้เป็นช่องทางเลือกต่อไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายและโรงเรียนจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยพอที่เด็กจะกลับไปเรียนได้อีกครั้งหนึ่งนั่นเอง



ความไม่พร้อมในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์

          หนึ่งภาคเรียนที่ผ่านมา จะเห็นความไม่พร้อมหลาย ๆ ด้านของการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ตัวอย่างจากผลการศึกษาวิจัยของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า นักเรียนและผู้ปกครองมีความไม่พร้อมในการใช้ระบบออนไลน์เพื่อการเรียนถึง 79.1% มีทั้งกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย ผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงานทุกวัน และกลุ่มที่มีบุตรหลานมากกว่า 1 คน ปัญหาที่พบของผู้ปกครองกลุ่มนี้คือ ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์หรือแท็บเลต หรือมีแต่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่มีบุตรหลานหลายคน และปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือผู้ปกครองไม่มีเวลาควบคุมดูแลลูกหลานเนื่องจากต้องทำงานนั่นเอง



ข้อดี-ข้อเสีย การเรียนผ่านระบบออนไลน์

          ตามข้อเท็จจริง หากพูดถึงข้อดีของการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ก็มีให้เห็นหลายประการ ได้แก่ การลดระยะเวลาและปัญหาการเดินทางของทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน การมีโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยบริหารจัดการการเรียนการสอน การตรวจสอบนักเรียนเข้าเรียน และให้ผู้เรียนสามารถทำแบบทดสอบเพื่อใช้ประเมินการเรียนได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถใช้เครื่องมือออนไลน์ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ สามารถเรียนหรือทบทวนย้อนหลังได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อดีดังกล่าวมีความเหมาะสมและไม่เป็นปัญหามากนักสำหรับการ เรียนออนไลน์ ปริญญาตรี และ เรียนออนไลน์มัธยม ปลาย เพราะผู้เรียนระดับนี้ค่อนข้างมีความรับผิดชอบ มีวุฒิภาวะและมีจุดมุ่งหมายในการเรียนชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อ หรือเรียนให้จบหลักสูตรเพื่อหางานทำ ดังนั้นการเรียนออนไลน์ ปริญญาตรี และ เรียนออนไลน์มัธยม จึงไม่เป็นภาระให้ผู้ปกครองต้องคอยดูแลเข้มงวดมากนัก 

   

          สำหรับข้อเสียที่พบในการเรียนระยะไกลผ่านออนไลน์ในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยอาจจะมีบ้าง ได้แก่ การเรียนการสอนออนไลน์เป็นการสื่อสารทางเดียว อาจเกิดความผิดพลาดหรือการรับรู้คลาดเคลื่อนได้ ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่ชัดเจนหรือถูกต้อง บางคนอาจไม่พร้อมในเรื่องของอุปกรณ์เรียน เช่น คอมพิวเตอร์ ไมค์ กล้อง ลำโพง และสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ไม่อำนวย อีกทั้งไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ในบางสาขาวิชา เช่น รายวิชาที่ต้องเข้าห้องแล็บเพื่อปฏิบัติการวิจัยหรือทดลอง เป็นต้น 


ความไม่พร้อมของตัวนักเรียน ความหนักใจของผู้ปกครอง ข้อเสียสำคัญการเรียนผ่านระบบออนไลน์

          สำหรับนักเรียนอนุบาล ประถม และมัธยมต้น มีความไม่พร้อมสำคัญที่สุดคือ ความไม่พร้อมของตัวนักเรียนเอง เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีความรับผิดชอบและวุฒิภาวะค่อนข้างน้อย เมื่อต้องมาเรียนผ่านออนไลน์ ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ทำให้การเรียนไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากอุปสรรคต่าง ๆ ได้แก่ 


  • เด็กไม่มีสมาธิและขาดความสนใจในการเรียน ครูผู้สอนจึงต้องมีกลวิธีการสอนที่สนุกสนานหรือน่าสนใจจริง ๆ เด็กถึงจะยอมเฝ้าหน้าจอได้จนจบคาบเรียน 
  • เด็กหลายคนพ่อแม่ซื้อมือถือให้เพื่อใช้ในการเรียน แต่กลับนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือแอบเล่นมือถือระหว่างเรียน บางคนก็ใช้เวลากับโซเชียลมากเกินควร จนกลายเป็นเด็กติดโทรศัพท์ 
  • เด็กไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นและอาจไม่สามารถไตร่ตรองความถูกต้องของข้อมูลต่าง ๆ จากโซเชียลได้ จึงเกิดความเสี่ยงในด้านไม่ดีต่าง ๆ ตามมา 


   ปัญหาดังกล่าว ทำให้พ่อแม่นอกจากจะต้องดูแลเข้มงวดให้ลูกเข้าเรียนตามเวลาและทำใบงานหรือการบ้านตามที่โรงเรียนกำหนดแล้ว ก็ยังต้องคอยสอดส่องดูแลให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถืออย่างพอดีและเหมาะสมด้วย 

 


พ่อแม่ต้องทำอย่างไร ให้ลูกรอดในยุค เรียนออนไลน์ 

          ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยในการจัดการเรียนตามวิธีปกตินี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ของเราให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ให้มากที่สุด และในยุคที่บ้านกลายเป็นโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอยู่กับบ้าน ส่วนพ่อแม่เองนอกจากจะทำหน้าที่เป็นพ่อเป็นแม่แล้วก็ต้องกลายเป็นครูไปด้วยอีกหน้าที่หนึ่ง และสืบเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประการ ทำให้พ่อแม่ต้องมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น อีกประการที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะให้ลูกได้ก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ให้ลูกได้ใช้ชีวิตในบ้านอย่างอบอุ่น ปลอดภัย พร้อมกับการได้เรียนรู้อย่างมีความสุขภายในบ้าน 


ปัญหาสุขภาพของลูกที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ

          นอกจากการต้องดูแลเข้มงวดให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ก็เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลใจให้พ่อแม่ ซึ่งตามผลสำรวจของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ เนื่องจากการอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป จากมากไปน้อย 7 อันดับ ได้แก่

  1. ปวดตา ปวดเมื่อย ปวดหลัง
  2. เครียดและกังวลใจ
  3. พักผ่อนน้อย นอนไม่เต็มที่เพราะการบ้านมากขึ้น
  4. เบื่อหน่ายไม่อยากเรียน
  5. ออกกำลังกายน้อยลง
  6. ขาดสมาธิ และสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย
  7. รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา 


ปัญหาสุขภาพที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้พ่อแม่ต้องดูแลลูกอย่างไรบ้าง มีข้อมูลน่ารู้ดังนี้

  • ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยเรื่องสมาธิในการเรียน
  • ดูแลเรื่องอาหาร ให้ลูกรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลม เพราะเป็นอาหารที่ทำให้อ้วนง่าย 
  • การนั่งหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้ปวดเมื่อย ปวดหลัง จึงควรสนับสนุนให้ลูกออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายบ้าง
  • เพื่อสุขภาพสายตาของลูก แนะนำลูกเรื่องการพักสายตาด้วยการมองออกไปจากหน้าจอทุก ๆ 20 นาที ครั้งละประมาณ 20 วินาที ให้เขากระพริบตาบ่อย ๆ และปรับแสงที่กระทบหน้าจออย่าให้มีแสงสว่างมาก เพราะจะทำให้เด็กต้องใช้สายตาเพ่งหน้าจอมากขึ้น หรืออาจต้องใช้แว่นปรับแสงซึ่งจะช่วยลดแสงสีฟ้าได้ 
  • เพื่อให้การเรียนเป็นไปด้วยดี พ่อแม่ควรดูแลไม่ให้ลูกใช้เวลาเล่นมือถือก่อนเข้าเรียนออนไลน์หรือระหว่างที่มีการพักเบรกระหว่างเรียน เพราะเด็กจะเพลิดเพลินกับมือถือจนไม่อยากเรียนอีก
  • พ่อแม่ต้องเข้าใจนิสัยและธรรมชาติของลูก อย่าไปบังคับขู่เข็ญให้เขานั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ หากเขาเป็นเด็กนิสัยซุกซน อยู่ไม่นิ่ง อย่านึกเปรียบเทียบว่าทำไมลูกเราไม่ตั้งใจเรียนเหมือนลูกคนข้างบ้าน ทั้งนี้เพราะนิสัยของเด็กแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน หากพ่อแม่เข้าใจในข้อนี้ ก็จะลดความเครียดได้ทั้งตัวพ่อแม่เองและลูกเราด้วย


          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 จะยืดเยื้อยาวนานไปอีกนานแค่ไหนไม่มีใครทราบ ซึ่งแน่นอนก็จะส่งผลกระทบการเรียนของเด็ก ๆ เยาวชนที่จะต้องใช้ระบบออนไลน์เพื่อการเรียนกันต่อไป ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็จะต้องรับภาระการเป็นครูต่อไปเช่นกันจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น 

   

ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านใช้โอกาสนี้ให้เป็นช่วงเวลาที่มีค่า ที่จะช่วยกระชับความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว แล้วเด็ก ๆ ลูก ๆ ของเราก็จะไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ แม้สถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ก็ไม่เป็นปัญหา 

ที่มาข้อมูล

  • https://brandinside.asia/e-learning-challenge-in-covid/
  • https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/1848004
  • https://www.bangkokbiznews.com/news/957001
  • https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1022